ข้ามไปเนื้อหา

วัดต้าม่อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดต้าม่อน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดต้าม่อน, วัดม่อน, วัดหลวงเวียงต้ามอน
ที่ตั้งตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดต้าม่อน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่

วัดต้าม่อนตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2445 ปรากฏชื่อในใบลานความว่า "...ไชยเทพภิกขุลิขิตตะแล ปางเมื่ออยู่ปฏิบัตวัดม่อน เมืองต้า..." (จาร พ.ศ. 2446)"[1] เมืองต้าเป็นเมืองที่มีกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะในช่วงที่เข้ามาเป็นแรงงานการทำป่าไม้ให้เจ้าผู้ครองนครลำปาง ก่อนหน้านี้วัดต้าม่อนเป็นวัดร้าง ต่อมาได้รับการบูรณะโดยหม่องโพส่วย (พ่อเฒ่าฮ้อยหลวง) ชาวพม่าจากเมืองนครเชียงตุง

เจ้าน้อยบุญหลง มณีวงศ์ เจ้านายเมืองนครลำปาง ซึ่งเป็นบุตรเขยของหม่องโพส่วย ได้นำไม้สักจัดสร้างวิหาร โดยมีหม่องผิ่ว ชาวพม่าจากเมืองนครเชียงตุง เป็นหัวหน้าช่าง เรียกชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้านว่า วัดม่อน หรือ "วัดต้าม่อน"

วิหารเป็นศิลปะพม่า พร้อมกับสร้างพระพุทธรูปพม่าศิลปะมัณฑะเลย์ ด้วยเส้นหวายสานลงรักปิดทองที่เมืองนครเชียงตุง เรียกพระนามว่า พระเจ้าแสนหวาย โดยได้อัญเชิญพระเจ้าแสนหวายบรรทุกหลังช้างจากเมืองนครเชียงตุงมาประดิษฐานเป็นพระประธานภายในวิหารวัดต้าม่อน และวาดรูปแต้มภายในวิหาร[2] รวมถึงภาพอินายสีเวย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นโมนาลิซาแห่งเมืองไทย[3] รูปแต้มในวิหารสันนิษฐานว่ามีลูกมือช่างวาดรูปแต้มจากกลุ่มช่างที่วาดในวัดภูมินทร์และวัดหนองบัว จังหวัดน่าน รูปแต้มวิหารวัดต้าม่อนจัดเป็นศิลปะล้านนา สกุลช่างกลุ่มน่านผสมผสานศิลปะรัตนโกสินทร์ ภาพที่วาดอื่น ได้แก่ วาดชาดกนอกนิบาตจากปัญญาสชาดก เรื่องเจ้ารัตนแสงเมือง และเจ้าก่ำกาดำ ภายหลังภาพในวิหารเหล่านี้ได้ถูกรื้อ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) ได้ขอผาติกรรมไปจัดเก็บรักษา แสดงไว้ภายในหอคำน้อยของอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2531

วิหารหลังใหม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2543[4] มีลักษณะสถาปัตยกรรมของไทใหญ่ อาคารประกอบ ในบริเวณวัดกว่า 6 ไร่ ด้วยงบประมาณซึ่งรวมถึงการวาดภาพจิตรกรรมทั้งสิ้น 11 ล้านบาท

อ้างอิง[แก้]

  1. ภูเดช แสนสา.(อ่าน).จารึกท้ายคัมภีร์ทศพร พบที่วัดนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่, อักษรธรรมล้านนา, จาร พ.ศ. 2446
  2. ภูเดช แสนสา (มกราคม–มิถุนายน 2564). "รูปแต้มวัดต้าม่อน เมืองต้าวัดพม่าปลายแดนด้านทิศตะวันออกเมืองนครลำปาง". วารสารข่วงผญา. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. 15 (1).
  3. "วัดต้าม่อนฟื้นตำนานโมนาลิซ่าแห่งเมืองไทย : ข่าวสดหลาก&หลาย". ข่าวสด.
  4. "วัดต้าม่อน". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.